รายงานการวิจัย เรื่อง การพัฒนาชุดการเรียนรู้เรื่องจิตวิทยาสำหรับครู สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี

พิมพ์

บทคัดย่อ

งานวิจัย เรื่อง การพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่องจิตวิทยาสำหรับครู สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรีครั้งนี้ เป็นการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาชุด   การเรียนรู้ด้วยตนเองเรื่อง จิตวิทยาสำหรับครูและ 2) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองเรื่อง จิตวิทยาสำหรับครู กลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้ คือ นิสิตที่มีความประสงค์จะประกอบวิชาชีพครูแต่ไม่ใช่นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ และไม่เคยลงทะเบียนเรียนวิชาจิตวิทยาสำหรับครู และสมัครใจเข้าร่วมการวิจัยจำนวน 12 คนผู้วิจัยใช้วิธีการเลือกอย่างเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่อง จิตวิทยาสำหรับครู 2) แบบสอบถาม   ความคิดเห็นที่มีต่อชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่อง จิตวิทยาสำหรับครู และ3) ประเด็นการสนทนากลุ่ม

ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า

1) ชุดการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ได้เนื้อหามาจากการวิเคราะห์มาตรฐานคุรุสภาพ หลักสูตร 4 จิตวิทยาสำหรับครู ประกอบด้วยหน่วยการเรียนรู้ จำนวน 5 หน่วย ได้แก่ จิตวิทยาพัฒนาการทฤษฎีการเรียนรู้ทางจิตวิทยา การตั้งเป้าหมายและแรงจูงใจ ความแตกต่างระหว่างบุคคล และการบริหารจัดการชั้นเรียน ซึ่งแต่ละหน่วยมี องค์ประกอบ คือ กรอบแนวคิด จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระสำคัญ คำชี้แจง แบบทดสอบก่อนการศึกษาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เนื้อหาและคำถามท้ายบท แบบทดสอบหลังการศึกษาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เฉลยแบบทดสอบ เฉลยคำถามท้ายบท หนังสืออ่านประกอบ และบรรณานุกรม

2) ผลการศึกษาผลการพัฒนาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่องจิตวิทยาสำหรับครู พบว่า ชุดการเรียนรู้ มีประสิทธิภาพของชุดการเรียนรู้ เท่ากับ 85.83/87.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 80/80 และกลุ่มเป้าหมายมีร้อยละความก้าวหน้าของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการศึกษาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เท่ากับ 41.66

นอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายมีความคิดเห็นต่อการใช้ชุดการเรียนรู้ด้านเนื้อหาและด้านการประเมินผล การเรียนรู้อยู่ในระดับมากนอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่อง จิตวิทยาสำหรับครู ไม่เพียงแต่มีประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องจิตวิทยาสำหรับครู เท่านั้น แต่มีประโยชน์สำหรับในแง่การพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะในหน่วยที่ 3 ซึ่งเป็นเนื้อหาในแง่ของการตั้งเป้าหมายและแรงจูงใจนั้นช่วยให้นิสิตสามารถตั้งเป้าหมายและแรงจูงใจทางการเรียนได้ และยังช่วยให้นิสิตสามารถบริหารจัดการเวลาในการเรียนรู้ของตนเองได้ เนื่องจากนิสิตสามารถใช้เวลานอกเหนือจากเวลาเรียนและภาระงานต่างๆ ของตนเอง และเลือกสถานที่กระตุ้นให้นิสิตเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ และไม่เกิดความกดดันขณะเรียน

คลิกเพื่อเข้าชม   รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การพัฒนาชุดการเรียนรู้เรื่องจิตวิทยาสำหรับครู สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี