พฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย และการให้ความช่วยเหลือ

พฤติกรรมทำร้ายตนเอง มักเกิดจากการใช้กลไกป้องกันทางจิตบ่อย เช่น การโทษว่าเป็นความผิดพลาดของตนเอง หรือมักอิงอยู่กับความพึงพอใจของคนอื่น คนทั่วไปมักดูเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้การทำร้านตนเองอาจเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ ฉุนเฉียว โมโห โกรธ หรือเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์ต่าง ๆ

ถ้าพฤติกรรมทำร้ายตนเองที่พัฒนารุนแรงไปถึงระดับหนึ่ง เช่น การมีความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ หรือการฆ่าตัวตาย พฤติกรรมนี้กระทบต่อกฎหมายบ้านเมือง แน่นอนต้องกระทบต่อบุคคลที่อยู่รอบข้างด้วย ตามที่กล่าวข้างต้นพฤติกรรมทำร้ายตนเองไปจนถึงการฆ่าตัวตาย ถ้ามองลึกลงไปคือกลไกป้องกันทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่เริ่มจากการที่บุคคลมักโทษตนเอง มองว่าความผิดพลาด ข้อบกพร่องเป็นของตน เกิดการตำหนิตนเอง และพัฒนาไปถึงการลงโทษทางกาย และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้รับการเยียวยา ช่วยเหลืออย่างเหมาะสม อีกมุมหนึ่งเป็นลักษณะของบุคคลที่มักใส่ใจกับความคิดความรู้สึกของบุคคลรอบข้างมากเกินไป คือคอยแต่จะคิดว่าคนอื่นกำลังวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ชอบ หรือคิดกับเราในแง่ลบไปก็เป็นได้

ปัจจุบันอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากการนำเสนอข่าวตามสื่อต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักจะมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย อาทิ เชื่อว่าคนที่พูดคุยถึงการฆ่าตัวตายให้คนใกล้ตัวได้รับรู้ จะไม่ลงมือกระทำแต่ในความเป็นจริงแล้ว มากกว่า 75%ของคนที่ลงมือฆ่าตัวตายนั้นจะเคยพยายามทำและ/หรือพูดถึงมัน
อีกประเด็นหนึ่งคือ หลายคนคิดว่าผู้ที่คิดฆ่าตัวตายนั้นอยากตาย แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป แต่เพราะว่าบุคคลนั้นมองไม่เห็นทางออกว่าจะจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่อย่างไร คนที่ฆ่าตัวตายมักจะมีอาการซึมเศร้า แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการซึมเศร้า หรือการคิดว่าบุคคลที่คิดจะฆ่าตัวตายนั้นมีความเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งความเป็นจริงคือไม่ใช่เสมอไป แต่กระนั้นบุคคลที่ป่วยทางจิตมีโอกาสสูงในการทำร้ายตนเองไปจนถึงฆ่าตัวตายได้เช่นกัน ความเชื่อที่่ว่ามีเพียงผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชเท่านั้นที่จะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ ความเป็นจริงคือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในบ้าน ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนจะเป็นผู้ช่วยเหลือและป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างดีทีที่สุด ตราบใดที่บุคคลนั้นรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่าต่อใครสักคน ก็สามารถช่วยให้เกิดพลังใจขึ้นมาได้

ความรู้สึกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมฆ่าตัวตาย มาจากอารมณ์รุนแรง และยาวนาน เช่น ความตึงเครียด ความซึมเศร้า แม้บางครั้งอารมณ์ของบุคคลนั้นยากที่จะได้รับการรับรู้จากคนรอบข้าง แต่สัญญาณต่างๆ ก็เป็นตัวบอกได้ อาทิ มีปัญหาการนอน กลางคืนนอนไม่หลับและทำให้นอนไม่เป็นเวลา(ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ)การใช้สารเสพติด การหลีกเลี่ยงการสมาคมกับเพื่อนๆ และลดกิจกรรมทางสังคม มีอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน มีพฤติกรรมแปลกประหลาด ไม่สมเหตุผล ความเปลี่ยนแปลงทางทางพฤติกรรม หรือ ความต้องการทางเพศที่ผิดไปจากปกติ เกิดความเจ็บป่วย หรือความเหนื่อยล้าที่ยาวนาน เช่น เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย หรือติดเชื้อ HIV AIDS มีการพูดถึง หรือแสดงความเศร้าเสียใจหมดหวังบ่อยๆ เศร้าเสียใจและร้องไห้ง่ายโดยไม่มีสาเหตุ แสดงความรู้สึกผิด หรือรู้สึกแย่กับตนเองบ่อยๆ ไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องง่ายๆ หรือไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้เลย ในกรณีที่เป็นนักเรียน อาจดูได้จากผลการเรียนตก ในวัยทำงานก็ดูจากการหยุดงาน ไม่มาทำงานตามปกติ พฤติกรรมการกินเปลี่ยน ทำให้น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น และอาจมีพฤติกรรมเล่นกับของมีคม หรือการทำรอยขีดข่วนบนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (ทำร้ายตนเอง)

การให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือกำลังลงมือจะทำนั้น อาทิ เปิดใจรับฟังปัญหาของบุคคลดังกล่าว ไม่ควรวิเคราะห์ หรือตีความอารมณ์ของบุคคลนั้น และไม่ควรชี้แนะตัดสินแทนว่าเขาควรทำอะไรเพื่อจัดการกับปัญหา แต่เน้นการอยู่เป็นเพื่อนกับบุคคลผู้นั้น ไม่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาของบุคคลนั้น แต่ควรดูแลเรื่องต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหาร การพักผ่อนนอนหลับ การขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นให้ช่วยกันดูแล ไต่ถามถึงความคิดต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวกับการฆ่าตัวเอง เพื่อหาทางป้องกันและแจ้งให้บุคคลใกล้ชิดช่วยกันสอดส่องดูแล พยายามให้บุคคลนั้นพูดระบายออกมาว่าเค้ามีความอึดอัดใจในเรื่องอะไร ควรใช้การโต้ตอบด้วยคำพูดที่สงบและให้กำลังใจ สามารถถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของเขาให้ได้คิดว่าถ้าเขาจากไปจะมีผลกระทบอย่างไร กับใครบ้าง บุคคลที่เขารัก และแคร์ที่สุดจะรู้สึกอย่างไร

หวังว่าความรู้เหล่านี้พอจะเป็นประโยชน์ ในกรณีที่พบบุคคลที่มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือกำลังพยายามจะฆ่าตัวตาย และอยู่ในสภาวะที่สิ้นหวังท้อแท้ ที่สำคัญที่สุดคือการได้รับรู้ และเห็นคุณค่าของตนเอง การมีคนคอยใส่ใจดูแลจะเป็นยาที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลเหล่านั้นครับ